Last updated: 23 เม.ย 2567 | 236 จำนวนผู้เข้าชม |
เอสซีจี เดคคอร์ หรือ SCGD ผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน มั่นใจหากตลาดอาเซียนทยอยฟื้นตัวตามเป้าหมาย จะทำให้ยอดขายเติบโต 2 เท่า ไตรมาสแรกปี 2024 ลงทุน 3 โครงการ 290 ล้านบาท
นำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD เล่าว่า สถานการณ์ตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิว กระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ในประเทศไทยในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นไปตามคาดการณ์ โดยยอดขายหลักกว่า 60% มาจากธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและธุรกิจสุขภัณฑ์ในประเทศไทย ขณะที่ยอดขายในต่างประเทศโดยรวมยังรอการฟื้นตัว
สำหรับไตรมาสที่ 2 คาดว่าประเทศไทยจะมีปัจจัยบวกซึ่งเป็นผลจากการผ่านงบประมาณประจำปีทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของภาครัฐจะสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทไตรมาส 1 ปี 2024 มีรายได้จากการขาย 6,784 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
แต่มีกำไร 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมผลกระทบจากการปรับโครงสร้าง และรายการ Non-Recurring อื่นๆ ในปีก่อนหน้า
จากการที่บริษัทสามารถยืนราคาขายสินค้ากระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสามารถขายสินค้าที่มีกำไรสูงในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงโครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตต่างๆ ที่บริษัทได้ดำเนินการและต้นทุนพลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา SCGD จึงได้รับการอนุมัติให้ลงทุนอีก 290 ล้านบาท ใน 3 โครงการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ได้แก่ โครงการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ 5.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 140 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดต้นทุนพลังงาน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2025
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคลังสินค้า เงินลงทุน 70 ล้านบาท โดยการติดตั้งระบบบริหารคลังสินค้าและรถยกระบบอัตโนมัติ และ โครงการไลน์การผลิตกระเบื้องขนาดใหญ่ที่หนองแค เงินลงทุน 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนเพื่อลดต้นทุนพลังงานที่ได้ลงทุนไปแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ ได้แก่ โครงการติดตั้ง Hot Air Generator เพื่อลดต้นทุนพลังงานที่โรงงานในประเทศไทยอีก 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และโครงการปรับปรุงสายการผลิตกระเบื้องไวนิล SPC โดยจะเริ่มผลิตกระเบื้องไวนิล SPC สำหรับป้อนตลาดในประเทศไทยได้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ด้วยกำลังการผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี
SCGD ยังมีโครงการลงทุนในเวียดนามที่จะทยอยแล้วเสร็จพร้อมเริ่มดำเนินการได้ตามแผนงานภายในปีนี้ ได้แก่ โครงการการผลิตสินค้ากลุ่ม กระเบื้องพอร์ซเลน และกระเบื้องขนาดใหญ่ อีก 2.2 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนาม และโครงการการผลิตกระเบื้องพอร์ซเลน 9.1 ล้านตารางเมตรต่อปี ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้
โดยโครงการลงทุนทั้งหมดเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตตามแนวทางของ ESG รวมถึงปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค และเตรียมธุรกิจให้พร้อมต่อการเติบโตตามการฟื้นตัวของตลาดในอนาคต
ส่วนสถานการณ์ตลาดวัสดุตกแต่งพื้นผิว กระเบื้องเซรามิกและสุขภัณฑ์ ในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนของประเทศเวียดนาม จากความคืบหน้าในเรื่องกฎหมายที่ดินฉบับใหม่เพื่อปฏิรูปกระบวนการบริหารที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและจัดทำฐานข้อมูลที่ดินระดับชาติ
แม้ว่าจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2025 แต่คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้วงการอสังหาริมทรัพย์ของประเทศเวียดนามมีความคึกคักมากขึ้นตั้งแต่ปีนี้ ด้านประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียคาดว่าจะฟื้นตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะดีขึ้น
SCGD มั่นใจว่าตลาดอาเซียนจะฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 4-5% ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายรายได้โดยรวมเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาทภายในปี 2030 ด้วย 4 กลยุทธ์ คือ
สร้างการเติบโตให้ธุรกิจตกแต่งพื้นผิวกระเบื้องปูพื้นและบุผนัง ผ่านแผนดำเนินการที่สำคัญต่างๆ ได้แก่ ขยายการลงทุนโรงงานในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม เพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสินค้าและสร้างฐานการจัดหาสินค้าร่วมกัน (Business Sourcing) ขยายเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่าย และเพิ่มยอดขายสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น วัสดุปิดผิวไวนิล SPC และกระเบื้องเกลซพอร์ซเลน เป็นต้น
ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ในอาเซียน ด้วยการต่อยอดจากช่องทางจัดจำหน่ายของธุรกิจตกแต่งพื้นผิว และขยายการลงทุนโรงงานสุขภัณฑ์ใหม่ในอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายยอดขายสุขภัณฑ์เติบโต 2 เท่า หรือกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ผ่านมา SCGD ได้เร่งดำเนินการตามกลยุทธ์ขยายธุรกิจสุขภัณฑ์ในอาเซียนซึ่งเป็นอีก 1 ธุรกิจหลักมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 20%
โดยเร่งขยายช่องทางการจัดจำหน่าย เพิ่มตัวแทนจำหน่ายสุขภัณฑ์ในต่างประเทศต่อยอดจากช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ในเวียดนามจากเดิม 17 รายเป็น 39 ราย ฟิลิปปินส์ จากเดิม 78 รายเป็น 85 ราย และอินโดนีเซีย จากเดิม 28 ราย เป็น 37 ราย ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายสุขภัณฑ์รวม 161 ราย ใน 3 ประเทศดังกล่าว
ขยายธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านการให้บริการแบบครบวงจรและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น กาวและยาแนว ประตู หน้าต่าง และชุดเฟอร์นิเจอร์ครัวและอื่นๆ โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายช่องทางจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง
M&P (Merger & Partnership) ลงทุนเพื่อควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือกับเจ้าของกิจการเดิมในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวธุรกิจสุขภัณฑ์ และธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
10 ก.ย. 2567