เปลี่ยน "ขยะของแท้" สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน"

Last updated: 10 มิ.ย. 2567  |  260 จำนวนผู้เข้าชม  | 

forward-green-optoce-sintef-insee-ecocycle-co-processing-circular-economy

 "ขยะของแท้" หรือ ขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ เป็นพลาสติกที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะกลุ่มนี้มักใช้วิธีฝั่งกลบและมีการลักลอบทิ้งในมหาสมุทรบางพื้นที่ การรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่ทะเลสร้างความเสียให้ให้ระบบนิเวศน์อย่างมาก ดังนั้นหลายหน่วยงานได้พยายามหาวิธีกำจัดขยะของแท้เหล่านี้ให้หมดไป ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน


เปลี่ยนขยะพลาสติกเกรดต่ำ สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน


สถาบันวิจัย SINTEF จากนอร์เวย์ และ อินทรี อีโคไซเคิล ได้ร่วมจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ โครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทร ให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy หรือ OPTOCE 


โดยผลการศึกษาศักยภาพของประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ ลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดการณ์ว่า กระบวนการเผาร่วม (co-processing) ของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เหล่านี้สามารถลดการใช้ถ่านหินและช่วยป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 100,000 ตันต่อปี มุ่งหน้าสู่การแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืนและเป้าหมายสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

 

 

ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE จากสถาบัน SINTEF แห่งนอร์เวย์ เล่าว่า ขยะพลาสติกจำนวนประมาณ 13 ล้านตันรั่วไหลสู่ทะเลและมหาสมุทรทุกปีและได้มีส่วนในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ สถานะทางเศรษฐกิจและสุขภาพของทุกคน หากไม่มีการดำเนินการใดๆ คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกจะเพิ่มขึ้นถึงอีกสามเท่าภายในปีพ.ศ.2583 ทั้งนี้การร่วมมือปฏิบัติการระหว่างประเทศถือเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางก่อนที่จะรั่วไหลไปสู่ทะเลและมหาสมุทร


สำหรับโครงการศึกษาในประเทศไทย ได้ทำการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 นำขยะพลาสติกปริมาณมากที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (Non-recyclable plastic waste : NRPW) จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบเก่าที่ปิดดำเนินการแล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประโยชน์ที่ได้จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบหรือบ่อขยะและเก็บข้อมูลการดำเนินงานในปัจจุบัน


กระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ หรือ Co-processing มีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพราะการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ สามารถช่วยทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำขยะพลาสติกมาใช้เสริมร่วมกันกับถ่านหินในเตาเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ สามารถลดการพึ่งพาการใช้แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

 

โครงการศึกษานำร่อง 16 โครงการได้ทำการศึกษาร่วมกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย และเวียดนาม โดยนำขยะพลาสติกหลายชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ปริมาณมาก มาทดสอบความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิคและสิ่งแวดล้อม


จากการทดสอบพบว่าการนำขยะพลาสติกมาเผาร่วมในเตาเผาผลิตปูนซีเมนต์ ไม่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสารพิษ รวมถึงค่าไดออกซินสู่บรรยากาศ โรงงานผลิตปูนซีเมนต์เหล่านี้สามารถช่วยป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 650,000 ตันต่อปี ในขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 350,000 ตันต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ


เทคโนโลยี "เผาร่วมของเสีย" ในเตาเผาปูนซีเมนต์


สุจินตนา วีระรัตน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด เล่าว่า การจัดการขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำไม่คุ้มทุนในการนำมารีไซเคิล หรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ ด้วยเทคโนโลยีเผาร่วมของเสียในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) เป็นกระบวนการที่บูรณาการจัดการของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ หรือ Energy Recovery ซึ่งเป็นแนวทางที่หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

 

 

ปัจจุบันปัญหามลพิษจากขยะ เกิดจากการบริหารจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิลหรือกลับมาใช้ใหม่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภค ขยะที่เหลือส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการไม่ถูกต้องและรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ธุรกิจของอินทรี อีโคไซเคิล เรามองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” เราต้องบริหารจัดการอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด


การนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นพลังงานความร้อนทดแทน นอกจากภาคอุตสาหกรรมอย่างกลุ่มผู้ผลิตปูนซีเมนต์สามารถนำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ได้และลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินแล้วยังช่วยลดความต้องการพื้นที่บ่อขยะ หรือหลุมฝังกลบเพิ่ม รวมทั้งป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทรได้อีกด้วย


อินทรี อีโคไซเคิล ได้ร่วมในโครงการ OPTOCE ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยชุมชน หรือ เชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากบ่อขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังร่วมดำเนินโครงการต่างๆ กับพันธมิตรด้านความยั่งยืน เช่น โครงการ Drop-off และเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่นำไปรีไซเคิล โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะเพื่อเป็นส่วนช่วยในการช่วยลดมลภาวะในทะเล 


ทำความรู้จัก "OPTOCE"


จัดตั้งโดยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับขยะและไมโครพลาสติกในทะเลของรัฐบาลนอร์เวย์ มุ่งศึกษาและหาแนวทางในการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทร


ทั้งนี้มีความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยในหลายประเทศ รวมทั้ง 4 ชาติพันธมิตรในเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย และเวียดนาม ศึกษาขยะพลาสติกหลากหลายชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิล หรือมีมูลค่าต่ำไม่คุ้มทุนในการนำไปรีไซเคิลในปริมาณมาก รวมถึงค้นหาโอกาสและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมซีเมนต์ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค เพื่อหาแนวทางกำจัดที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

 

 

สำหรับโครงการในประเทศไทย สถาบันวิจัย SINTEF ได้ร่วมมือกับ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล ทำการศึกษาศักยภาพของกระบวนการนำพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ โดยนำขยะพลาสติกที่ได้จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF: Refuse Derived Fuel ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์


โดยทำการทดสอบในเงื่อนไขที่แตกต่างกันเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเทคนิคต่างๆ รวมทั้งค่าความร้อนและการตรวจวัดค่ามาตรฐานโดยละเอียด ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยมีศักยภาพอย่างมากในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรั่วไหลของขยะลงสู่มหาสมุทร

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้