Last updated: 5 เม.ย 2567 | 1313 จำนวนผู้เข้าชม |
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ตอกย้ำการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคธุรกิจสู่การเติบโตที่ยั่งยืน ด้วยการต่อยอดโครงการ Sustainability Innovation Programme หรือ SIP ผ่านการจัดกิจกรรมของ ยูโอบี ฟินแล็บ (UOB FinLab) ที่มุ่งเน้นไปยังการพัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ของไทยในทุกภาคอุตสาหกรรม
บัลลังก์ ว่องธวัชชัย Head of Digital Engagement and FinTech Innovation ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เล่าว่า กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีการตระหนักรู้มากขึ้นถึงความจำเป็นในการทรานส์ฟอร์เมชันธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน
จากผลสำรวจ UOB Business Outlook Study 2024 พบว่าโดยทั่วไปแล้วองค์กรธุรกิจในไทย 56% มองว่าการปรับใช้แนวทางความยั่งยืนคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับองค์กร ส่วน 50% ช่วยดึงดูดนักลงทุน และ 42% เพิ่มโอกาสทางธุรกิจในการทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่
อีกทั้งผลสำรวจยังระบุว่า การนำแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) มาใช้ในประเทศไทยนับเป็น 1 ใน 5 ลำดับความสำคัญทางธุรกิจที่องค์กรให้ความสำคัญอย่างมากในช่วง 1-3 ปีต่อจากนี้ ซึ่งธุรกิจประมาณ 3 ใน 10 ระบุว่า จำเป็นต้องมีการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในส่วนของการเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับการปรับใช้มาตรฐาน ESG และแนวทางปฏิบัติในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ UOB FinLab ซึ่งมี 3 แกนหลักเป็นเป้าหมายผลักดันกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีคือ 1.Business opportunity เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ 2.Digital Technology transformation ส่งเสริมให้ธุรกิจปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ 3.Sustainable Growth สามารถดำเนินธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยที่ผ่านมาเราได้มีการผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมามีภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมกับ UOB FinLab แล้วกว่า 5,000 ราย และมีเอสเอ็มอีที่นำเทคโนโลยีไปปรับใช้จริงแล้วกว่า 1,000 ราย ทั้งนี้ UOB FinLab 2023 ที่ผ่านมา เป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเอสเอ็มอีด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา และเปลี่ยนผ่านในภาวะกำลังฟื้นตัวทางธุรกิจ การเติบโตอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในกลุ่มนี้
ดังนั้นในปีนี้ เราเล็งเห็นความสำคัญในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดโครงการ Sustainability Innovation Programme (SIP) ขึ้น โดยรวบรวมพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชนที่สามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเริ่มต้นปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้เฉพาะทาง
ผู้ประกอบการจะสามารถประเมินความพร้อมของธุรกิจ สำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ผ่านการใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของธนาคารที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มธุรกิจต่างๆ
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO (Thailand Carbon Market Regulator) เล่าว่า เราเป็นองค์กรในการตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนให้เกิดการตระหนักรู้ในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเราใช้มาตรฐานในการตรวจสอบอ้างอิงมาจากมาครฐานสากล และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ในการบริหารจัดการด้านการใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตามมองว่า ทุกภาคส่วนมีความสำคัญในการร่วมกันลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีองค์กรจำนวนมาก ซึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ได้เริ่มตั้งเป้าหมายความเป็นกลางในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ธุรกิจรายย่อยซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ยังมีการตระหนักรู้เรื่องนี้ไม่มากนัก
ดังนั้นในกิจกรรม SIP 2024 ของ UOB FinLab ปีนี้ TGO จะเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและข้อแนะนำต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนความรู้เรื่อง Carbon footprint
ปิติพัฒน์ มงคลอริยนันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคเอ็มพี คอร์ปอเรชัน หนึ่งในผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับ UOB FinLab เล่าว่า ที่ผ่านมาการทำธุรกิจในเป้าหมายของตัวเองคือ การอยู่รอดและไปต่อได้ แต่หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมพบว่ามุมมองธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เราต้องเติบโตอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมองค์กรสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนให้ทุกคนในองค์กรมีทิศทางเดียวกัน
และที่สำคัญหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมสิ่งที่เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจน คือยอดขายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ระบบปฏิบัติการหลังบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปปรับใช้ในธุรกิจและส่งต่อไปยังพาร์ทเนอร์ชิพในการทำธุรกิจของเรา
ทั้งนี้มองว่าผู้ประกอบการที่ต้องการปรับธุรกิจของตัวเองสู่ความยั่งยืน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหน การเข้าร่วมกิจกรรม SIP 2024 จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี เพราะการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเพียงกระแสที่ต้องทำตาม แต่คือสิ่งที่ผู้ประกอบควรปรับตัวและมองหาโอกาสที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้บนความยั่งยืน การลดการใช้พลังงานบางส่วนคือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลดต้นทุนของธุรกิจ
โครงการ SIP 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความยั่งยืน, เครื่องมือวัดผล, ตัวชี้วัด ESG, แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและขั้นตอนการดำเนินการเพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว
ทั้งนี้กิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก Educate module โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เข้าร่วมให้ความรู้เบื้องต้นในการทำธุรกิจ ส่วนที่ 2 Evuluate Module โดยการแลกเปลี่ยนความรู้จาก PWC Thailand บริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ในไทยมานานกว่า 62 ปี
และในส่วนสุดท้ายของกิจกรรมคือ Excule Module โดยมีวิทยากรจากหลายหน่วยงานเข้าให้ความรู้ ได้แก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการยั่งยืนนิยม หรือ Sustainism
สำหรับเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พฤษภาคม 2567 ผ่านทาง www.facebook.com/uob.th หรือ https://thefinlab.com/th/thailand ทั้งนี้เปิดรับจำนวนจำกัด 200 บริษัท ซึ่งเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะต้องผ่านการคัดเลือกจาก UOB FinLab เท่านั้น
UOB FinLab คือโครงการที่ช่วยปรับเปลี่ยนธุรกิจ SMEs สู่ยุคดิจิทัล ผ่านการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งแนะนำเครื่องมือดิจิทัลให้เอสเอ็มอีนำไปใช้ในธุรกิจ รวมถึงแนะนำแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้มั่นใจว่าการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลของเอสเอ็มอีจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบ และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว
และในปี 2024 UOB FinLab ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้าน Sustainability เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจเพื่อตอบรับกับกระแสเทรนด์โลกและสอดคล้องกับนโยบายธนาคารยูโอบีส่งเสริมเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050
25 มิ.ย. 2567