GARTNER ชี้ปี 2567 “Generative AI” หัวใจสำคัญทุกการตัดสินใจ

Last updated: 6 ม.ค. 2567  |  195 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Gartner GenAi

 การ์ทเนอร์ ชี้ผลกระทบของ Generative AI เปลี่ยนแนวคิดระดับซีอีโอมีผลต่อการตัดสินใจในทุกมิติ องค์กรที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนและรับมือกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

แดริล พลัมเมอร์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ เล่าว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ Generative AI หรือ GenAI เป็นหัวใจสำคัญของทุกการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีอื่นๆ โดย GenAI ยังทลายกรอบเดิมและสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

AI เป็นเทคโนโลยีหลักของภาครัฐ-ภาคเอกชน

ทั้งนี้ในปี 2570 มูลค่าและประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ผลงานจาก AI จะได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยรัฐบาลหลายประเทศมีความมุ่งมั่นและกำลังจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์และแผนงานด้าน AI

โดยยอมรับว่า AI กลายเป็นเทคโนโลยีหลักของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการรวม AI เข้าไว้ในการวางแผนระยะยาวระดับชาติกำลังได้รับแรงหนุนจากการออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมแนวคิดริเริ่มด้าน AI

ดังนั้นการนำ AI มาไว้ในแผนพัฒนาระดับชาติจะทำให้ AI มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและกลายเป็นตัวเร่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการนำ AI มาใช้ในโครงการขนาดใหญ่ให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายภาคส่วน แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศในการระดมสรรพกำลังและทรัพยากรต่างๆ

ทั้งนี้เครื่องมือ GenAI ต่างๆ จะถูกนำไปใช้เพื่ออธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมและทำงานทดแทนได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนของการปรับให้ทันสมัยลงถึง 70%

โดยมองว่าประสิทธิภาพและความสามารถของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ทำให้ผู้บริหารในตำแหน่ง CIO มีโอกาสค้นหากลไกที่น่าเชื่อถือและการปรับปรุงแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมให้ทันสมัยอย่างคุ้มค่า CIOสามารถสร้างบททดสอบเฉพาะเพื่อทดสอบผลลัพธ์ที่สร้างโดย GenAI LLMs ในขณะเดียวกันการพัฒนาการจัดการการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากระบวนการยกระดับทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานได้สูงสุดตลอดวงจรการปรับปรุงให้ทันสมัย


รับมือภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบ AI

ภายในปี 2571 องค์กรธุรกิจจะใช้เงินมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการรับมือกับข้อมูลอันตรายต่างๆ โดยเป็นการแบ่งงบประมาณการตลาดและความปลอดภัยทางไซเบอร์ 10% เพื่อสู้กับภัยคุกคามรอบด้าน

โดยข้อมูลที่สร้างความเสียหายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกลไกการตัดสินใจของมนุษย์และเครื่องจักรและอาจตรวจจับและปิดระบบได้ยากยิ่ง โดยข้อมูลนี้จัดเป็นภัยคุกคามการทำงานที่แตกต่างกัน 3 ส่วนคือ ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้านการตลาดและด้าน AI

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ GenAI ได้กระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลรวมข้อมูลพวกนี้ไว้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับพลังและความพร้อมที่มีมากขึ้นของ GenAI กับผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งองค์กรที่เฝ้าระวังผู้หวังร้าย ติดตามหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงผู้ให้บริการเครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับข้อมูลอันตรายนี้ มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก

ทั้งนี้ในปี 2570 ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Chief Information Security Officers หรือ CISO) ประมาณ 45% จะเพิ่มขอบเขตการทำงานนอกเหนือจากความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากแรงกดดันด้านกฎระเบียบและการขยายพื้นที่การโจมตีเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งความรับผิดชอบในการจัดการความปลอดภัยและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นกระจัดกระจายไปตามแผนกและทีมงานส่วนต่างๆ โดยผู้บริหาร CISO จะต้องดูแลพอร์ตโฟลิโอสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม ประเด็นนี้ไม่สอดคล้องกับการสนับสนุนการเปิดเผยตามกฎหมายรวมถึงการรับประกันความปลอดภัยทางดิจิทัลและการจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพองค์กรโดยรวมลดลง

สำหรับการขยายพอร์ตโฟลิโอของผู้บริหาร CISO จะสามารถรวมการจัดการความปลอดภัยเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้การควบคุมดูแลกระบวนการจัดการเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ทั่วทั้งองค์กร

นอกจากนี้ในปี 2571 อัตราการทำงานในรูปแบบสหภาพของพนักงานที่มีทักษะจะเพิ่มขึ้น 1,000% โดยได้แรงกระตุ้นจากการนำ GenAI มาปรับใช้ในการทำงาน โดยผู้บริหารมักบอกว่า AI เป็นเหตุให้ต้องปรับลดตำแหน่งงาน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องสื่อสารชัดเจนกับพนักงานถึงความตั้งใจในการนำ AI มาปรับใช้ภายในองค์กร

สำหรับแนวทางนี้จะหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสร้างความวิตกกังวลของ AI ในหมู่พนักงาน โดยองค์กรที่ใช้ GenAI และไม่วางแผนจัดการกับความกังวลด้าน AI อย่างชัดเจนกับพนักงานที่มีทักษะ จะต้องเผชิญกับอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้น 20%

รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ เล่าต่อว่า องค์กรควรให้ความสำคัญกับความพยายามในการนำ AI มาเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงานของพนักงานมากกว่านำมาใช้เป็นระบบอัตโนมัติ ผู้บริหารต้องเข้าใจสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทำได้และทำไม่ได้ เนื่องจากยังมีการโอ้อวดประสิทธิภาพ AI เกินจริงที่ไปสร้างความคาดหวังให้กับบอร์ดผู้บริหาร

ใช้ Digital Charisma Filter เป็นผู้ช่วย

ในปี 2569 พนักงาน 30% จะใช้ประสิทธิภาพของตัวชี้วัดความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Charisma Filter) เพื่อบรรลุความก้าวหน้าในอาชีพจากที่ไม่เคยทำได้มาก่อน โดย Digital Charisma Filter จะแจ้งเตือนและกรองการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางสังคมมากขึ้นตามสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งการเตือนก่อนและหลังเพื่อทำให้การโต้ตอบสื่อสารมีประสิทธิภาพแก่ผู้บริหารและผู้ร่วมงานในสถานการณ์ทางสังคมที่พวกเขาต้องการความแม่นยำ ซึ่งจะมีการปรับปรุงความสามารถองค์กรในการขยายการจ้างงานครอบคลุมพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น

องค์กรสามารถขยายกลุ่มผู้สมัครที่มีทักษะความสามารถได้โดยการใช้ Digital Charisma Filter เป็นผู้ช่วยปรับปรุงความความสัมพันธ์กันของการโต้ตอบทุกขั้นตอนของการสรรหาและว่าจ้างบุคลากร ซึ่งการเร่งนำผู้ช่วยนี้มาใช้งานทำได้โดยการเน้นย้ำถึงความสำคัญกับผู้จำหน่ายแอปพลิเคชันองค์กรและการผนวกรวมเครื่องมือนี้เหล่านี้ไว้ในแผนของผลิตภัณฑ์

ภายในปี 2570 มี 25% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 จะรับบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านระบบประสาท หรือ Neurodivergent Talent มาร่วมงาน เช่น บุคคลออทิสติก บุคคลสมาธิสั้นและบุคคลดิลเล็กเซีย เพื่อพัฒนาผลการดำเนินงานของธุรกิจ มองว่าองค์กรธุรกิจที่ว่าจ้างและรักษาบุคลากร Neurodivergent Talent จะได้ประสบการณ์การมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงมีผลิตผลและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งองค์กร

ส่วนบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ที่ลงทุนในโครงการจ้างงานบุคคลที่มีความหลากหลายในด้านระบบประสาทและรับรู้ถึงผลจากการมีส่วนร่วมและผลลัพธ์ทางธุรกิจ องค์กรต้องจัดทำโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการค้นพบบุคลากรที่มีทักษะในกลุ่ม Neurodivergent ซึ่งมีความพยายามเร่งด่วนจากการใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของผู้เชี่ยวชาญและใช้องค์ความรู้จากองค์กรชั้นนำที่ทำงานในด้านความหลากหลายทางระบบประสาท

องค์กรควรรวมเอาบุคคลด้านระบบประสาทที่มีพรสวรรค์ไว้ในตำแหน่งระดับหัวหน้า เนื่องจากการมีหัวหน้าที่มีคุณสมบัติ Neurodivergent อยู่ในองค์กรจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมความเท่าเทียมและไม่แบ่งแยก ทั้งยังเป็นการดำเนินงานที่มีคุณค่ามากที่สุดต่อมุมมองของพนักงานกลุ่มนี้

Machine Customer เติบโตอย่างรวดเร็ว

ในปี 2569 บริษัทขนาดใหญ่ 30% จะมีหน่วยธุรกิจหรือช่องทางการขายเฉพาะเพื่อเข้าถึงตลาด Machine Customer ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จะบังคับให้เกิดการปรับเปลี่ยนของฟังก์ชันหลักๆ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน การขาย การตลาด การบริการลูกค้า การค้าดิจิทัล และประสบการณ์ของลูกค้า และภายในปี 2568 ศูนย์การขายและบริการมากกว่า 25% ในองค์กรขนาดใหญ่จะได้รับการติดต่อจากลูกค้ากลุ่มนี้


Machine Customer จะต้องการช่องทางการขายและบริการเป็นของตน เนื่องด้วยลูกค้าประเภทนี้จะทำธุรกรรมด้วยความเร็วสูงและมีปริมาณตัวแปรของการตัดสินใจที่สูงเกินขีดความสามารถมนุษย์อย่างมาก ต้องการพนักงานที่มีทักษะความสามารถและมีกระบวนการรับมือที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในแผนกดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์




ทั้งนี้มองว่าในปี 2571 จะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่ามนุษย์ปฏิบัติงานในสายการผลิต ค้าปลีกและลอจิสติกส์ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงาน


โดยบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีกและลอจิสติกส์ส่วนใหญ่ไม่สามารถค้นหาหรือรักษาบุคลากรไว้เพียงพอเพื่อรองรับการดำเนินงานในแต่ละวัน ทำให้ในทศวรรษหน้าองค์กรด้านซัพพลายเชนจะประสบปัญหาในการสรรหาพนักงานให้เพียงพอ ซึ่งหุ่นยนต์จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวนี้


จากการสำรวจของการ์ทเนอร์ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า 96% ของผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีซัพพลายเชนได้ปรับใช้หรือวางแผนที่จะปรับใช้ระบบอัตโนมัติทางกายภาพไซเบอร์ หรือ Cyber-Physical Automation และ 35% ได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานแล้ว


โดย 61% ยังอยู่ในขั้นทดลองหรืออยู่ระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก เทคโนโลยีหุ่นยนต์กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานในระดับปฏิบัติการได้ในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่โรงงาน คลังสินค้า ไปจนถึงร้านค้าปลีกและอื่นๆ อีกมากมาย

การเข้าถึงไฟฟ้าอย่างเสถียรคือความได้เปรียบ

ภายในปี 2569 ประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 ประมาณ 50% จะประสบกับการจัดสรรไฟฟ้าทุกเดือน ส่งผลให้การดำเนินงานที่ต้องอาศัยพลังงาน กลายเป็นทั้งข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและความเสี่ยงการล้มเหลวครั้งใหญ่ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมกำลังจำกัดความสามารถของการเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ความต้องการไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


องค์กรต่างๆ กำลังประเมินราคาพลังงานและการเข้าถึงแหล่งพลังงานว่าเป็นความสามารถในการแข่งขัน หมายความว่าการเข้าถึงไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพสำหรับลูกค้าจะกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารจึงสร้างแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงพลังงานผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพและการลงทุนโดยตรงในการผลิตพลังงาน


ทั้งนี้มองว่าต้องดึงประโยชน์จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันระยะยาว โดยลดการใช้พลังงานเชิงโครงสร้างลง และประเมินการลงทุนขององค์กรโดยรวมต้นทุนพลังงานทั้งที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบันและอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้