กสว.เห็นชอบหลักเกณฑ์การตั้งคําของบประมาณ จัดสรรงบ ปี 67

Last updated: 7 ม.ค. 2567  |  133 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Thailand Science Research and Innovation

 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อหารือวาระต่างๆ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า กสว. มีนโยบายปรับปรุงรายละเอียดคำขอฯ และแผนการดำเนินงานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ซึ่งด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากคือการนำผลการวิจัยด้านการเกษตรไปใช้ประโยชน์

เนื่องจากภาคการเกษตรมีผู้ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงมอบให้ สกสว. จัดเตรียมโครงการสำคัญ ภายใต้แผนงานการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ดังนั้นที่ประชุม จึงได้พิจารณาแนวทางการปรับแผนดำเนินการและงบประมาณเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (RU: Research Utilisation) ใน 3 ประเด็น คือ




1.การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและส่งเสริมผู้ประกอบการในธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) โดยมุ่งเน้น SMEs และ Startup

2.การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ที่มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาเชิงระบบในพื้นที่ โดยใช้กลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค

และ 3. ความมั่นคงของประเทศ มุ่งเน้นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดำรงสภาพยุทโธปกรณ์ และการดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ

โดยมอบ สกสว. ประสานแจ้งหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 หน่วย จัดทำสรุปข้อเสนอแผนงานย่อยรายประเด็นที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการจัดกรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาแผนงานที่ตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งในประเด็นท้าทายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ภาระหนี้ครัวเรือน สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์

รวมถึงประเด็นเร่งด่วน เช่น แก้ปัญหาหนี้สิน การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมถึงแนวทางการกลั่นกรองคำของบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Development)




ตลอดจนการมุ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำหรือ semiconductor และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานทดแทนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิม เป็นการพลิกโฉมการทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

และการร่วมทุนของภาครัฐและเอกชน ในรูปแบบ Venture Capital (VC) หรือกองทุนร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้